สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2393 ของ สงครามเชียงตุง

ความขัดแย้งในเมืองเชียงรุ่ง (ต่อ)

วัดหลวงเชียงเจือง เมืองแช่ สิบสองปันนา

ในพ.ศ. 2379 เจ้ามหาวังเจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งถึงแก่อสัญกรรม เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตร (เท่าจิ่นชู่ง 刀正綜) (พงษาวดารเมืองเชียงรุ้งเรียก เจ้าสุจะวรรณคือราชบุตร ไทยรบพม่าเรียก เจ้าสาระวัน จดหมายเหตุเรื่องทัพเชียงตุงเรียกย่อว่า ราชบุตร) โอรสของเจ้ามหาวังขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งแทน[5] เจ้าสุชาวรรณตั้งน้องชายของตนชื่อว่าออลนาวุธหรืออรำมาวุทะ (เท่าเซิ้นชู่ง) เป็นอุปราชา

ฝ่ายเจ้ามหาน้อยซึ่งไปถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองสอนั้น ยังมีโอรสคือเจ้าหน่อคำ (เท่าข่านเซิ้น) พ.ศ. 2381 เจ้าหน่อคำยกทัพเข้ามาโจมตีเมืองเชียงรุ่งเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ โดยร่วมมือกับพญาหลวงช้าง พญาหลวงชนะฦๅไชย พญาจุ้มคำ เจ้ามหาขนาน เจ้าไชย เจ้ามหาไชยเมือพงพาตัวเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชาไปเมืองลา แล้วทำทีไปต้อนรับเจ้าหน่อคำเข้ามาเมืองเชียงรุ่ง อยู่ได้ 6 วัน เจ้ามหาไชยกับพญาแสนเชียงราจับพญาหลวงช้าง พญาหลวงชนะฦๅไชย พญาจุ้มคำ เจ้ามหาขนาน เจ้าไชยฆ่าเสีย แล้วเชิญเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชากลับมาครองบ้านเมืองตามเดิม แต่เจ้าหน่อคำหนีไปอยู่ข่ากุยที่ผาผึ้ง เกลี้ยกล่อมข่าได้ 2,000 คน จะมาตีเมืองวัง มหาไชยจัดให้นายพรหมวงษ์พี่เขยคุมไพร่เมืองพง 100 เจ้าสุชาวรรณราชบุตรให้พระยาแสนเชียงราเปนแม่ทัพคุมทัพ 6000 ยกไปรบเจ้าหน่อคำ เจ้าหน่อคำพ่ายแพ้หลบหนีไปอยู่เมืองเชียงตุง เจ้าหน่อคำนำกำลังเชียงตุงขึ้นมาตีท่าลอเมืองพาน พญาแสนเชียงราคุมไพร่พลออกมารบตีกองทัพเจ้าหน่อคำแตกกลับไป

เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเมืองเชียงตุงส่งความลงไปบอกแก่พระเจ้าแสรกแมงที่เมืองอังวะ เจ้าหน่อคำมอบเงินให้แก่ทางราชสำนักพม่า พระเจ้าแสรกแมง (Tharawaddy Min) ให้หาตัวเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรมาเข้าเฝ้า แต่เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรไม่ยอมไป พระเจ้าแสรกแมงจึงตั้งให้เจ้าหน่อคำเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งแทน พ.ศ. 2384 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรปรึกษาท้าวพญา ให้อุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้วมารดา และนางแว่นแก้วน้องสาวลงไปเข้าเฝ้าแทน แต่ถูกกักตัวไว้[6]

พระเจ้าแสรกแมงมีพระราชโองการให้จักกายหลวงมองชิณ[5]แห่งเมืองหมอกใหม่ (Mawkmai) แม่ทัพพม่า ณขามมองโซ ณขามเนมโย ณขามจันทบุรี มองตาลียกทัพจำนวน 3,000 คน[7] มาตีเมืองเชียงรุ่งและนำเจ้าหน่อคำขึ้นครองเมืองใน พ.ศ. 2385 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรหลบหนีไป ฝ่ายพม่ากับจีนเจรจาตกลงกันเรื่องจะให้เจ้าหน่อคำเป็นเจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งไม่สำเร็จ เมื่อปรึกษาท้าวพญาก็ไม่ยอมให้เป็น พม่าให้ไปจับพญาหลวงสิงหไชยา พญาหลวงวอชูเมืองแสนฆ่าเสีย ฝ่ายจีนจึงสนับสนุนให้เจ้ามหาไชยเมืองพง ยกทัพเข้ายึดเมืองเชียงรุ่งคืนให้แก่เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรได้สำเร็จ เจ้าหน่อคำหลบหนีไปยังเชียงตุง พ.ศ. 2386 เจ้าฟ้ามหาขนานเมืองเชียงตุง ให้เจ้าเมืองกาศผู้บุตร กับพระยาหลวงราชวัง ณขามจันทบุรีนำกำลังมาตีเมืองลอง มหาไชยยกทัพไปช่วย เจ้าเมืองกาศถูกปืนคาบศิลาทีหนึ่งแตกถอยไป

มองตาลีทูลพระเจ้าแสรกแมงว่า เจ้าเมืองเชียงรุ่ง เจ้าเมืองพงไม่ได้คิดกบฏ แต่เพราะเจ้าหน่อคำกับฝ่ายพม่าจับขุนนางเมืองเชียงรุ่งฆ่าและกดขี่พลเมือง จีนจึงให้เมืองสิบสองปันนาสู้รบกองทัพพม่า พระเจ้าแสรกแมงจึงให้ปล่อยตัวอุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้วมารดา นางแว่นแก้วน้องสาว แต่ให้อยู่เมืองอังวะก่อน แล้วให้จับตัวจักกายหลวงมองชิณ ณขามมองโซ ณขามเนมโย ณขามจันทบุรี ประหารชีวิตที่เมืองนาย พ.ศ. 2388 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรให้พญาหลวงอจิระปัญญา พญาหลวงไชยสงคราม นำเครื่องราชบรรณาการลงไปถวาย ณ เมืองอังวะ พระเจ้าแสรกแมงจึงยอมรับเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่ง อุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้วมารดา นางแว่นแก้วน้องสาว จึงได้กลับคืนสู่เมืองเชียงรุ่ง ภายหลังเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับเจ้ามหาไชยเกิดขัดแย้งกัน เจ้ามหาไชยตีเมืองเชียงรุ่งแตก เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชาอรำมาวุทะหนีไปอยู่บ้านหว้า ต่อมาเจ้ามหาไชยงาดำ โอรสเจ้ามหาน้อย อ้างว่าจีนให้ตนเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่ง ให้เจ้ามหาไชยเมืองพงไปรับ เจ้ามหาไชยไม่ยอมไป เจ้ามหาไชยงาดำจึงนำทัพข่ากุยมาเมืองเชียงเจิง เมืองเชียงเจิงแต่งขุนนางออกไปรับ เจ้ามหาไชยงาดำจับขุนนางฆ่า 1 คน เจ้าเมืองเชียงเจิงออกสู้รบกับเจ้ามหาไชยงาดำแตกพ่ายไป

พ.ศ. 2390 เจ้ามหาไชยงาดำนำทัพตีเมืองวัง เมืองงาด เมืองเชียงเจิง แล้วไปต่อสู้กับอุปราชาที่บ้านหว้า เจ้ามหาไชยงาดำถอยไปเมืองแช่ เจ้ามหาไชยให้เจ้าพรหมวงษ์นำทัพไปตีเจ้ามหาไชยงาดำแตก แล้วไปเชิญเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตร อุปราชาอรำมาวุทะ กลับมาครองบ้านเมือง พ.ศ. 2391 เจ้ามหาไชยงาดำกับเจ้าหน่อคำร่วมมือกันยกทัพมาเผาเมืองเชียงเหนือ เจ้ามหาไชยกับอุปราชาขึ้นไปรบที่เมืองยางสู้รบจนแตกพ่าย และเข้าพักไปเมืองเชียงเหนือ เมืองเชียงใต้ แต่กองทัพเจ้าหน่อคำ เจ้ามหาไชยงาดำยกทัพเข้ายึดเมืองเชียงรุ่งได้ เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรหนีมาอยู่เมืองรำ[5] เจ้ามหาไชยพาเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรกับอุปราชามาอยู่เมืองพง กองทัพเจ้าหน่อคำ เจ้ามหาไชยงาดำ ตามมาตีเมืองพง[8] เจ้าสุชาวรรณราชบุตรหนีไปเมืองพม่า ส่วนอุปราชอรำมาวุทะ รวมทั้งมารดาคือนางปิ่นแก้วและน้องสาวคือนางแว่นแก้ว เดินทางลี้ภัยมาที่เมืองหลวงพระบาง เจ้าสุกเสริมกษัตริย์แห่งหลวงพระบางจึงส่งตัวอุปราชออลนาวุธ นางปิ่นแก้ว และนางแว่นแก้ว ลงไปที่กรุงเทพฯเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้ามหาไชยเมืองพงหลบหนีมาอยู่ที่เมืองหลวงภูคา (ไชยบุรี) ซึ่งเป็นเขตแดนของเมืองน่าน เจ้าเมืองน่านจะส่งตัวเจ้ามหาไชยลงมาที่กรุงเทพ เจ้ามหาไชยไม่ยอม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระยาศรีสหเทพ (ปาน สุรคุปต์) เดินทางขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเจ้ามหาไชยเมืองพง[7] เจ้ามหาไชยเมืองพงจึงยอมเดินทางลงมาที่กรุงเทพฯในที่สุด

การจัดเตรียมทัพ

สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2393
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า-สยาม
วันที่พ.ศ. 2393
สถานที่รัฐเชียงตุง
ผลรัฐเชียงตุงเป็นฝ่ายชนะ ล้านนาเข้าครอบครองเชียงตุงไม่สำเร็จ
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า)
รัฐเชียงตุง
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรล้านนา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าพุกามแมง
เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุง
เจ้าเมืองขาก†
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระยาเชียงใหม่มหาวงส์
พระยาอุปราชพิมพิสาร
พระยารัตนเมืองแก้ว (หนานสุริยวงศ์)
พระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่
นายน้อยมหาพรหม
กำลัง
ไม่ทราบ7,500 คน
พระยาเชียงใหม่มหาวงส์ หรือต่อมาคือพระเจ้ามโหตรประเทศแห่งเชียงใหม่ เป็นผู้นำในการยกทัพของล้านนาเข้าโจมตีเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 2393

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชดำริว่า เจ้านายเมืองไทลื้อเชียงรุ่งสิบสองปันนามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ควรต้องจัดทัพไปยึดเมืองเชียงรุ่งคืนให้แก่เจ้าสุชาวรรณราชบุตร แต่หนทางยกทัพไปเมืองเชียงรุ่งนั้นต้องผ่านเมืองเชียงตุงก่อน หากจะยึดเมืองเชียงรุ่งได้ต้องยึดเมืองเชียงตุงก่อน “เมืองเชียงรุ้ง (เชียงรุ่ง) นี้ถ้าตัดเมืองเชียงตุงเสียได้ก็จะเป็นสิทธิฝ่ายเรา”[7] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมิได้ทรงแต่งทัพกรุงเทพฯเข้าตีเมืองเชียงตุงโดยตรง แต่โปรดฯให้ทางหัวเมืองล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบ จึงทรงมีท้องตรามีพระราชโองการให้พระยาเชียงใหม่มหาวงส์เจ้าเมืองเชียงใหม่ เกณฑ์ทัพเมืองเชียงใหม่ 5,000 คน เมืองลำพูน 1,500 คน เมืองลำปาง 1,000 คน[7] ขึ้นไปโจมตีเมืองเชียงตุง พระยาเชียงใหม่มหาวงส์จึงจัดทัพขึ้นตีเมืองเชียงตุงดังนี้;[7]

กองทัพเชียงใหม่และลำพูนยกทัพออกไปในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2393 กำหนดถึงเมืองเชียงตุงพร้อมกันในเดือนมีนาคม

เชียงใหม่ตีเมืองเชียงตุง

ทัพของพระยาราชบุตร นายน้อยมหาพรหม และนายหนานสุริวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองสาดได้สำเร็จ จากนั้นนายน้อยมหาพรหมและนายหนานสุริยวงศ์ยกทัพแยกไปตีเมืองก๊ก พระยาราชบุตรและทัพเมืองลำพูนเข้าตีเมืองปางซาได้สำเร็จ ทัพเชียงใหม่ลำพูนแยกย้ายกันไปตีเมืองบริวารต่างๆของเชียงตุงได้แก่ เมืองแจง เมืองมาง เมืองภู เมืองเลน เมืองเพียง ได้จนหมดสิ้นแล้ว จึงยกทัพเข้าโจมตีประชิดเมืองเชียงตุง

พระยาอุปราชพิมพิสารนำทัพทางเชียงราย ให้พระยารัตนเมืองแก้วไปตีเมืองพยาก (Mong Hpayak) นายธรรมปัญโญไปตีเมืองเลน ส่วนตัวพระยาอุปราชพิมพิสารเองนั้นไปเกลี้ยกล่อมเมืองยอง (Mong Yawng) ให้เข้าสวามิภักดิ์ เมื่อเมืองยองยอมสวามิภักดิ์แล้ว อุปราชพิมพิสารจึงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองยอง

ฝ่ายพระยาราชบุตร นายน้อยมหาพรหม และนายหนานสุริยวงศ์ ซึ่งยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงตุงนั้น เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุงยกทัพไทเขินออกมาสู้รบเป็นสามารถ เจ้าเมืองขากบุตรของเจ้ามหาขนานเสียชีวิตในที่รบ ฝ่ายเชียงใหม่ยกทัพเข้าประชิดประตูเมืองเชียงตุง ไม่สามารถทลายประตูเมืองเข้าไปได้เนื่องจากขาดกำลังสนับสนุนทัพของพระยาอุปราชพิมพิสารไม่มาตามนัด พระยาอุปราชยังคงปักหลักอยู่ที่เมืองยอง นายน้อยมหาพรหมที่เชียงตุงส่งคนมาเร่งให้พระยาอุปราชยกทัพไปหนุนที่เชียงตุง ปรากฏว่าพระยาอุปราชไม่ไป พระยาราชบุตรและนายน้อยมหาพรหมสู้รบกับเมืองเชียงตุงจนหมดสิ้นกระสุนดินดำ ยังไม่ได้เมืองเชียงตุง จึงล่าถอยกลับมา[7]

บทสรุป

แม้ว่าทางฝ่ายล้านนาเชียงใหม่จะเคยมีประสบการณ์การทำสงครามกับเชียงตุงหลายครั้ง เคยตีเมืองเชียงตุงได้เมื่อพ.ศ. 2345 แต่ความขัดแย้งภายในวงศ์เจ้าเจ็ดตนเชียงใหม่เป็นอุปสรรคทำให้การโจมตีเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 2393 ในนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับเจ้าฟ้ามหาขนานเมืองเชียงตุงมีประสบการณ์สงครามกับล้านนาและพม่าหลายครั้ง จึงสามารถป้องกันเมืองเชียงตุงไว้ได้ พระยาเชียงใหม่มหาวงศ์เจ้าเมืองเชียงใหม่มีใบบอกลงมากรุงเทพฯมากล่าวโทษ[7]พระยาอุปราชพิมพิสารว่าไม่ช่วยเหลือในการทัพ และขอพระราชอภัยโทษว่าพระยาเชียงใหม่จะขอยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงด้วยตนเองอีกครั้ง และขอให้ทางกรุงเทพฯแต่งทัพขึ้นไปสนับสนุนและให้ฝ่ายเมืองน่านเข้าช่วยร่วมด้วย[7] ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระประชวร การจึงระงับไปก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2394